การนำเกมส์มาใช้ทางการศึกษาในยุคปัจจุบัน

เกมส์ได้เข้ามามีบทบาทต่อสังคมไทยและเยาวชนไทยมากขึ้น แต่เกมส์ส่วนใหญ่ถูกสร้างและออกแบบมาในแนวทางของวัฒนธรรมต่างประเทศ อีกทั้งรูปแบบเกมที่ปรากฏให้เห็นจะเน้นเรื่องการฆ่าฟันและเอาชนะ ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อวัฒนธรรมและสังคมไทย เนื่องจากเกมสามารถเป็นเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาระบบวิธีการคิดวิเคราะห์ สร้างจินตนาการ หรือแม้กระทั่งขัดเกลาจิตใจของเด็กและเยาวชนได้ จึงได้มีการนำเกมส์มาเป็นสื่อการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเด็กให้เกิดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษาปฐมวัย และเน้นทางด้านสติปัญญาหรือการคิดให้แก่เด็ก เกมส์การศึกษามีหลายประเภท มีรูปแบบและวิธีเล่นแตกต่างกันไป สิ่งสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมความคิดให้แก่เด็กคือ การเล่นเกมส์การศึกษาควรมีคำถามกระตุ้นให้เด็กได้คิดด้วย โดยคำถามจะต้องเป็นสิ่งเร้าที่ดีชวนให้เด็กสงสัยจูงใจให้เด็กเกิดพฤติกรรมการเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพทางความคิดที่เด็กมีอยู่ในตัวตนให้ก้าวขึ้นสู่ขีดสูงสุด ทั้งนี้เกมการศึกษานั้นจะมีประโยชน์ในด้านต่างๆดังนี้

1.ส่งเสริมการสังเกตและเปรียบเทียบจากของจริง วัสดุสิ่งของต่างๆและรูปภาพ

2.ส่งเสริมการใช้ความคิดอย่างมีเหตุผล การตัดสินใจแก้ปัญหา

3.ส่งเสริมการใช้กล้ามเนื้อเล็กและการประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา

4.ส่งเสริมการเล่นร่วมกัน เป็นการสร้างสัมพันธภาพอันดีกับผู้อื่น และยังเป็นการเรียนรู้การเข้าสังคม ซึ่งเด็กจะแสดงพฤติกรรมจากการสนทนาถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน

5.ส่งเสริมให้เด็กมีความกล้าในการแสดงออก กล้าพูด กล้าคิด มากยิ่งขึ้น

6.ส่งเสริมให้เป็นคนยอมรับการแพ้ ชนะ และการทำตามกติกา

7.ส่งเสริมให้เด็กเกิดความเพลิดเพลินและผ่อนคลายจากกิจกรรมอื่นๆได้อีกด้วย

8.ส่งเสริมนิสัยดีให้แก่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นการมีวินัยในตนเองและหมู่คณะ ความอดทนอดกลั้น ความชื่อสัตย์ การเป็นผู้นำและผู้ตาม

9.ส่งเสริมให้เด็กค้นคว้าด้วยตนเองจากสื่อการเล่นและเรียนรู้จากวิธีการเล่น

10.ส่งเสริมทักษะที่ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า

จะเห็นได้ว่า เกมส์การศึกษาเปิดโอกาสให้เด็กได้กระทำ ได้พัฒนาด้านความคิด การอ่านและการเรียนรู้ต่างๆ จึงเป็นประสบการณ์ตรงที่เด็กจะได้รับด้วยความสนุก ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุดด้วย